M.B.A. for Modern Managers (Saturday Program)
Would you like to react to this message? Create an account in a few clicks or log in to continue.

แนวทางการเลือกซื้อกองทุนรวม

Go down

แนวทางการเลือกซื้อกองทุนรวม Empty แนวทางการเลือกซื้อกองทุนรวม

ตั้งหัวข้อ  Ton Mon May 31, 2010 11:20 pm

ในโลกสมัยใหม่ที่เราอยู่อาศัยกันทุกวันนี้ ล้วนเต็ม ไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ข้อมูลทางการเงิน ตัวเลข ตาราง ต่างๆ นานา ที่เมื่อก่อน มีไว้ให้ผู้จัดการกองทุนใช้วิเคราะห์เท่านั้น แต่ทว่าเดี๋ยวนี้นักลงทุนก็สามารถเสาะหาข้อมูลเหล่านี้ได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส นักลงทุนสามารถสั่งซื้อหรือขายหุ้นหรือหน่วย ลงทุนในกองทุนรวมได้ โดยคลิกคำสั่งซื้อหรือขายบน เครือข่ายอินเทอร์เน็ต โลกยุคข่าวสารสมัยใหม่นี้ได้ก่อให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่โลกแห่งการลงทุนอย่างแท้จริง

ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนจำนวนมากจากทั่วทุกสารทิศถูกโยน เข้าใส่นักลงทุน ไม่ว่าพวกเขาจะชอบมันหรือไม่ก็ตาม การวิเคราะห์เชิง ปริมาณอย่างละเอียดซับซ้อน ราคาหุ้นที่กำลังเกิดการซื้อขายจริง หรือข้อมูลประเภทเดียวกันนี้อีกเป็นจำนวนมากมีให้นักลงทุนบอกรับเป็นสมาชิก แต่ข้อมูลมากมายมหาศาลนี้ ก็ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าลงทุนไปแล้วจะได้ผลตอบแทนอัตราสูงๆ กลับคืนมา โลก ของการลงทุนในทุกวันนี้จริงๆ แล้วมันอาจจะไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน มากไปกว่าที่มันเคยเป็น คือมันเป็นอย่างไรมันก็ยังเป็นอยู่อย่างนั้น แต่เราต่างหากที่อาจจะเป็นคนทำให้กระบวนการลงทุนยุ่งยากซับซ้อน มากไปกว่าเดิม ถ้าเช่นนั้นเราจะทำอย่างไรดี?

ผมมีวิธีอย่างง่ายๆ ในการเลือกซื้อกองทุนรวมมานำเสนอใน M&Wฉบับนี้ แต่ก่อนอื่นผมอยากจะบอกว่ามันมีสิ่งที่ตรงข้ามกันอยู่เสมอในโลก ยุคใหม่นี้ กล่าวคือยิ่งภาวะแวดล้อมรอบๆ ตัวเรามีความสลับซับซ้อนมากขึ้น เท่าใด เราอาจจะต้องยิ่งแสวงหาวิธีการลงทุนที่เรียบง่ายมากที่สุด เพื่อให้ บรรลุจุดมุ่งหมายของเรา

ข้อมูลและคำแนะนำที่ผมจะพูดถึงต่อไปนี้ ผมเอามาจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน หรือ Association of Investment Management Companies (AIMC) โดยมีบริษัทจัดการที่เป็นสมาชิกเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องของตัวเลขต่างๆ ที่ปรากฏ ทางเลือกสำหรับการลงทุนในกองทุนรวมที่มีอยู่ใน ตอนนี้ก็มีแตกต่างหลากหลายอย่างมาก ผมขอเสนอแนวทางหรือวิธีการ อย่างง่ายๆ 12 ข้อสำหรับแผนการลงทุนทางด้านกองทุนรวมของท่านผู้อ่านครับ

1. ท่านต้องรู้ด้วยตัวเองว่ากองทุนประเภทไหนที่เหมาะกับตัวท่าน (Types of Funds)

หากหยิบหนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวันมาเปิดดูรายชื่อกองทุนรวม ท่านจะเห็นชื่อ และประเภทกองทุนมากมายลายตาไปหมด ชื่อเหล่านี้มักจะเป็นคำที่กว้างๆ เพราะตอนนี้มีการจัดตั้งกองทุนอยู่ทั้งหมดราว 500 กอง แบ่งออกเป็น 12ประเภท อย่างที่บอกแหละครับว่าชื่อกองทุนไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรมาก นอกจาก ไอเดียกว้างๆ ว่าเป็นกองทุนอะไรเท่านั้น ลองดูตัวอย่างประเภทกองทุนรวม ที่มีอยู่ 12 แบบตามตารางข้างล่างนี่ซิครับ

ตาราง ประเภทของกองทุนรวม (1)

กองทุนปิด(Closed End Fund)
กองทุนรวมที่มีหน่วยลงทุนคงที่ ไม่เพิ่มขึ้นและไม่ลดลง และเปิดให้มีการจองซื้อเพียงครั้งเดียวเมื่อจัดตั้งโครงการ มีกำหนดอายุโครงการแน่นอน และบริษัทจัดการไม่รับ ซื้อคืนหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนดอายุโครงการ ผู้ถือ หน่วยลงทุนไม่สามารถไถ่ถอนหน่วยลงทุนก่อนครบ กำหนดอายุโครงการได้ โดยส่วนใหญ่แล้วอายุโครงการ จะมีกำหนด 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี และเพื่อเพิ่มสภาพ คล่องให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน บริษัทจัดการมักเอาหน่วย ลงทุนของกองทุนปิดไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดรอง หรือจัดให้มีตัวแทนจัดการซื้อขาย (Market Maker)

กองทุนเปิด (Open End Fund)
กองทุนรวมที่สามารถเพิ่มหรือลดหน่วยลงทุนได้ ไม่มี กำหนดอายุโครงการ และบริษัทจัดการรับซื้อคืนหน่วย ลงทุนตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน เช่น ทุก วัน ทุกสัปดาห์ ทุกสองสัปดาห์ ทุกเดือน ทุกไตรมาส หรือทุกหกเดือน กองทุนเปิดเป็นที่นิยมมากกว่ากองทุน ปิด เพราะมีสภาพคล่องมากกว่า

กองทุนรวมที่ระดม เงินลงทุนจากต่างประเทศ(Country Fund)
กองทุนรวมที่บริษัทจัดการตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเสนอขายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนที่มีภูมิลำเนานอกประเทศ เพื่อที่จะระดมเงินมาลงทุนในประเทศไทย กองทุนรวมประเภทนี้มักจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ

กองทุนรวมตราสารแห่งทุน (Equity Fund)
เป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารทุนโดยเฉลี่ย ในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สิน สุทธิของกองทุนรวม

กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ (General Fixed Income Fund)
เป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในเงินฝาก หรือ ตราสารหนี้หรือทรัพย์สินอื่น หรือการหาดอกผลโดย วิธีอื่นตามที่สำนักงาน ก.ล.ต.กำหนด หรือให้ความ เห็นชอบให้กองทุนประเภทดังกล่าวลงทุนได้

กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะยาว(Long Term Fixed Income Fund)
เป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนเหมือนกองทุนตราสารแห่งหนี้ แต่อายุตราสารหนี้ในพอร์ตโฟลิโอของกองทุนรวมประเภทนี้ (Portfolio Duration) ในขณะใดขณะหนึ่ง ต้องมีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป

กองทุนรวมตราสาร แห่งหนี้ระยะสั้น (Short Term Fixed Income Fund)
เป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนเหมือนกองทุนตราสารแห่งหนี้ แต่อายุตราสารหนี้ในพอร์ตโฟลิโอของกองทุน รวมประเภทนี้ (Portfolio Duration) ในขณะใดขณะหนึ่ง ต้องมีอายุไม่เกิน 1 ปี

กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund)
เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพและมีกำหนดชำระเงินต้นเมื่อทวงถาม หรือมี อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี กองทุนรวมตลาดเงินมีนโยบาย การลงทุนที่คล้ายคลึงกับกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะสั้น มีความเสี่ยงต่ำสุด เหมาะสำหรับการลงทุนระยะสั้นของผู้ลงทุนที่ไม่ต้องการความเสี่ยง

กองทุนรวมผสม (Balanced Fund)
ลงทุนในตราสารได้ทุกประเภท ผู้จัดการกองทุนสามารถ แสวงหาโอกาสลงทุนที่ดีกว่าได้ ทั้งในตลาดตราสารทุน และตราสารหนี้ โดยเป็นการจัดสรรเงินลงทุนประเภท สมดุล มีวัตถุประสงค์ที่จะดำรงอัตราส่วนการลงทุนใน ตราสารทุนในขณะใดขณะหนึ่งไม่เกินร้อยละ 65 และไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของ กองทุนรวม เพราะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับ ceiling และ floor ในการลงทุนในตราสารทุนเหมาะสำหรับผู้ลงทุน ที่ยอมรับความเสี่ยงได้ปานกลาง

กองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่น (Flexible Portfolio Fund)
ลงทุนในตราสารทุกประเภทเช่นเดียวกับกองทุนรวม ผสม แต่ไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับ ceiling และ floor ในการลงทุนในตราสารทุนแต่อย่างใด การจัดสรรเงิน ลงทุนของกองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่นระหว่างตลาด ตราสารทุนและตลาดตราสารหนี้ จึงอยู่ที่ดุลพินิจของผู้จัดการกองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่นเหมาะสำหรับ ผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ปานกลาง

กองทุนรวมหน่วยลงทุน (Fund 0f Funds)
มีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดง สิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวม โดยเฉลี่ยใน รอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สิน สุทธิของกองทุนรวม กองทุนประเภทนี้มีข้อดีคือมีการ กระจายการลงทุน ความเสี่ยงจึงลดลง และมีต้นทุน เฉลี่ยต่ำด้วย

กองทุนรวมใบสำคัญแสดง สิทธิ (Warrant Funds)
มีนโยบายการลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุน และใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นเพิ่ม ทุน โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม การลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น มีความเสี่ยงสูง กองทุนประเภทนี้จึงมีความเสี่ยงสูงมาก

กองทุนรวมกลุ่มธุรกิจ (Sector Fund)
มีนโยบายการลงทุนในตราสารทุนของบริษัทที่มีธุรกิจหลักประเภทเดียวกัน ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า ร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม

กองทุนรวมSpecial Fund
เป็นกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ที่จัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อแก้ปัญหาในระบบสถาบันการเงิน นโยบายลงทุน ของกองทุนนี้จะทำการลงทุนซื้อหรือเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ แล้วนำมาขายหรือให้เช่าอีกทอดหนึ่ง ส่วนการ ขายหน่วยลงทุนของกองทุนประเภทนี้จะขายให้แก่นักลงทุนสถาบันเท่านั้น ไม่ขายให้นักลงทุนรายย่อยหรือ บุคคลธรรมดาทั่วไป

กองทุนรวม Special Fund
มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น หรือ การหาดอกผลโดยวิธีอื่นเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน รวม แต่ไม่ประสงค์ที่จะดำรงตามอัตราส่วนการลงทุน ตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด เนื่องจากกองทุนรวม Special Fund มีการลงทุนกระจุกตัวกว่า สำนักงาน ก.ล.ต.จึงกำหนดให้กองทุนรวมประเภทนี้มีคำเตือนเป็น พิเศษเกี่ยวกับความเสี่ยง


2. เลือกซื้อกองทุนตามความต้องการลงทุนของท่าน (Choose funds that suit your needs)

ชื่อแปลกๆ ของประเภทกองทุนรวมมากมายในตาราง 1 นั้น ความจริง แล้วยังสามารถจัดให้แคบลงมาได้เหลือแค่ 3 ประเภทเท่านั้นคือกองทุนหุ้น หรือเอาชื่อที่เป็นทางการหน่อยก็คือกองทุนตราสารทุน (Equity Funds) เป็นกองทุนที่ระดมเงินไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (เพื่อให้ได้ผลตอบแทน รวมดีในระยะยาว) ลำดับถัดมาเป็นกองทุนตราสารหนี้ที่เอาไปลงทุนในพันธบัตรหรือหุ้นกู้ต่างๆ (เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม) และสุดท้าย เป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งนำเงินไปลงทุนในเงินฝากหรือตั๋วเงิน ที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี (เพื่อให้เงินต้นมีความมั่นคง)

กองทุนทั้งสามประเภทที่กล่าวมามีจุดที่ต่างกัน คือเรื่องของความ เสี่ยง กองทุนหุ้นมีความเสี่ยงมากที่สุด กองทุนตราสารหนี้ก็เสี่ยง รองลงมา และกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นก็เสี่ยงน้อยที่สุดแต่ก็ให้อัตรา ผลตอบแทนต่ำสุดด้วย ท่านจะเลือกลงทุนในกองทุนประเภทใดก็ต้อง ประเมินว่าจะให้น้ำหนักในเรื่องของอัตราผลตอบแทนหรือความเสี่ยง รวมทั้งดูในแง่ขอบเขตการลงทุน และแผนการกระจายสินทรัพย์ของตัวท่านเอง (Asset Allocation)

3. ระวังเรื่องผลงานในอดีต (Beware of past performance)

ประเด็นสำคัญอันหนึ่งที่เป็นที่สนใจของนักลงทุนส่วนใหญ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มี ประสบการณ์ลงทุนมาแล้วหรือเป็นมือใหม่ก็คือ เรื่องผลดำเนินงานในอดีตของ กองทุนหรือที่เราเรียกกันว่า Track Record ซึ่งอาจจะอุปมาได้กับการแข่งม้า แต่ผลงานในอดีต แม้จะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ ทว่ามันอาจจะชวนให้เข้าใจผิด ในการประเมินวิธีการทำงานของผู้จัดการกองทุนได้

ตามหลักแล้วกองทุนที่ผลดำเนินงานในอดีตมีอัตราผลตอบแทนดีกว่าผล ตอบแทนของดัชนีตลาดที่มีการนำมาใช้เปรียบเทียบด้วยนั้น ในระยะยาวหรือ เมื่อกาลเวลาผ่านไป ผลตอบแทนของกองทุนดังกล่าวมักจะอยู่ในระดับต่ำกว่าดัชนีตลาด สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะการที่จะได้ผลตอบแทนสูงๆ นั้น ผู้จัดการ กองทุนก็ต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงด้วย จึงจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ดัชนีของตลาดที่เอามาเปรียบเทียบ

พวกเราส่วนมากคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า หากมันดีเกินกว่าที่จะเป็นจริงได้ มันก็มีโอกาสที่จะไม่ใช่ของจริง ซึ่งท่านอาจจะเอามาปรับใช้กับวิธีเลือกกองทุน ได้ในแง่ที่ว่า หากดูผลดำเนินงานในอดีตของกองทุนแห่งหนึ่งแล้ว พบว่ามีอัตรา ผลตอบแทนที่ดีมากผิดปกติ ท่านอาจจะใช้กฎข้อนี้และเริ่มตั้งคำถามได้แล้วว่า มันจะมีผลตอบแทนดีเช่นนั้นไปอีกนานเท่าใด

4. ท่านควรมองหากองทุนที่ให้ผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอติดต่อกันเป็นเวลานาน (Long-term, Consistency)

ผมคิดว่าสุภาษิตไทยที่บอกว่า ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน เป็น หลักการที่น่าจะเอามาปรับใช้ในการตรวจสอบผลดำเนินงานของกองทุนรวม ได้อย่างดี ท่านควรดูตัวเลขผลตอบแทนของกองทุนอย่างน้อยที่สุด 3 ปีย้อนหลัง หรือจะให้ดีก็ดูย้อนไปถึง 5 ปีเลยก็ได้ โดยเปรียบเทียบกับกองทุนอื่นๆ ที่อยู่ ในทำเนียบเดียวกัน แต่ที่สำคัญนั้นท่านต้องเปรียบเทียบกองทุนที่อยู่ในประเภท เดียวกัน เช่น เทียบกองทุนหุ้นกับกองทุนหุ้น ไม่ใช่เอากองหุ้นไปเทียบกับกอง ตราสารหนี้ เพราะกองทุนสองประเภทนี้มีเป้าหมายการลงทุน และนโยบาย ความเสี่ยงที่แตกต่างกัน

5. ให้ระวังเรื่องผลตอบแทนที่เย้ายวนใจและอันดับความเสี่ยง (Beware of tempting yield and credit risk !!!)

คำแนะนำข้อนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดในกรณีที่เป็นกองทุนตราสารหนี้ครับ เพราะตลาดตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ในประเทศเรานั้นต้องบอกว่าเพิ่งจะจัดตั้งได้ไม่กี่ปีนี่เอง มีสภาพคล่องน้อยครับ ดังนั้นราคาหุ้กู้บางตัวในตลาด จะมีความผันผวนสูงและเป็นราคาที่ไม่ถือว่าสะท้อนความต้องการของตลาดอย่าง แท้จริง

บริษัทจัดการรู้ดีว่านักลงทุนมักจะเน้นในเรื่องของความมั่นคงและอัตราผล ตอบแทนในระดับสูง ดังนั้นจึงมีบริษัทจัดการบางแห่งที่ทำทุกอย่างเพื่อให้มีตัวเลข อัตราผลตอบแทนดีๆ พวกเขาไม่สนใจว่าตราสารอนุพันธ์ที่ซื้อลงทุนไว้ในพอร์ตจะมีอันดับความเสี่ยงสูงและสภาพคล่องที่จะซื้อขายเปลี่ยนมือก็อยู่ในระดับต่ำ ชื่อบริษัทผู้ออกก็ไม่เป็นที่รู้จัก และมันก็เหมือนซื้อเข้ามาเก็บแช่นิ่งไว้ในพอร์ต

เทคนิคในการที่จะเพิ่มตัวเลขผลตอบแทนนี้อาจจะได้ผลคุ้มค่าหรือไม่คุ้มเลย ก็ได้ แต่วิธีนี้เป็นการเล่นกับความเสี่ยงที่ยากจะประเมินได้ ถ้าคุณเห็นกองทุน ตราสารหนี้แห่งหนึ่งมีผลตอบแทนสูงกว่าอัตราผลตอบแทนของกองทุนตรา สารหนี้ประเภทเดียวกันและมีอายุของตราสารที่ลงทุนอยู่ในพอร์ตใกล้เคียงกัน คุณควรสอบถามผู้จัดการกองทุนเพื่อขอดูว่ามีตราสารอะไรอยู่ในพอร์ตของเขาบ้าง

6. ให้ดูสภาพคล่องและอายุของตราสารด้วยความระมัดระวัง (Look carefully at maturities & liquidity !!)

นี่เป็นคำแนะนำข้อที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าข้อที่เพิ่งกล่าวถึง ทำไมน่ะหรือครับ เพราะหลายปีที่ผ่านมากองทุนตราสารหนี้ระยะยาวมีประวัติทำผล ตอบแทนได้สูง แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่จะดำรงอยู่ตลอดไป โดยเฉพาะเมื่ออัตราดอกเบี้ย ลดลงต่ำมากเป็นประวัติการณ์ในตอนนี้ และจริงๆ แล้วกองทุนตราสารหนี้ที่มี อายุของตราสารที่ถือลงทุนอยู่ ยังเหลืออีกนานมากนั้น จะมีความผันผวน เรื่องราคาสูงมาก ถ้าอัตราดอกเบี้ยหันทิศกลับ โดยเพิ่มขึ้นแค่ 1% เท่านั้น กองทุน ประเภทที่ผมเอ่ยมานี้จะถูกผลกระทบอย่างหนัก โดยผลตอบแทนจะลดลง 10% หรือมากกว่านั้น ทำให้ดอกเบี้ยที่สะสมมามากกว่าปี สูญหายไปในพริบตา

คุณอาจพอรับมือกับเหตุการณ์เช่นนี้ได้หากคุณคิดว่าจะลงทุนระยะยาว และนี่ก็เป็นความผันผวนในช่วงสั้นๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าคุณมีเป้าการลงทุนที่สั้นกว่า นั้น เช่น 2 ปีหรือน้อยกว่านี้ ผมคิดว่าคุณควรจะแบ่งเงินออกมาแล้วไปซื้อกองทุน ที่ถือตราสารระยะสั้น

คุณสามารถหาผลตอบแทนได้ถึง 75% - 80% จากกองทุนตราสารหนี้ ระยะยาว โดยมีความผันผวนน้อยกว่าประมาณ 40%

นอกจากเรื่องอายุของตราสารแล้ว ประเด็นเรื่องสภาพคล่องในการซื้อขาย เปลี่ยนมือก็เป็นเรื่องที่ต้องระวังเช่นกัน ลักษณะของกองทุนตราสารหนี้ส่วนมาก ที่จัดตั้งขึ้นในเวลานี้จะเป็นแบบกองทุนเปิดที่ขายให้นักลงทุนทั่วไป นั่นหมายความ ว่านักลงทุนสามารถซื้อขายกองทุนได้ทุกวันทำการ โดยบางกองทุนไม่ต้องเสียค่า ธรรมเนียมซื้อ-ขายด้วย ถือเป็นเรื่องที่สะดวกมากสำหรับนักลงทุน แต่ในฟาก ของสินทรัพย์ที่กองทุนไปซื้อลงทุน มันไม่มีสภาพคล่องในการซื้อขายแบบนั้น

ดังนั้น เราจะเห็นลักษณะของการจับคู่แบบผิดๆ (mismatch) ระหว่าง โครงสร้างของกองทุนเปิดกับสินทรัพย์ที่ไปลงทุน ในช่วงสถานการณ์ปกติผู้จัดการกองทุนจะไม่มีปัญหาในการบริหารสภาพคล่องของกองทุน แต่ใน สถานการณ์ที่ตลาดหุ้นกู้เผชิญกับความผันผวน ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุอะไรก็ตาม การบริหารสภาพคล่องของกองทุนตราสารหนี้จะมีความยากลำบากเพิ่มขึ้น เพราะจะมีการไถ่ถอนหน่วยลงทุนทุกวัน

นอกจากนี้ เครื่องมือเพื่อช่วยบริหารสภาพคล่อง เช่น สัญญาซื้อคืนที่เรียก ว่า REPOs ก็ยังไม่มีการอนุญาตให้ใช้กันในเวลานี้ ซึ่งก็หมายความว่าผู้จัดการ กองทุนมีทางเลือกจำกัดมากในการรับมือกับความผันผวนที่ไม่แน่นอนในตลาด ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดฝัน

ดังนั้น หากคุณต้องการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะยาว จะเป็นการ ดีกว่าและปลอดภัยยิ่งที่จะแบ่งเงินลงทุนในกองทุนที่มีการขายคืนหน่วย ลงทุนเป็นระยะๆ (Interval Fund) หรือไม่ก็ไปซื้อกองทุนปิดดีกว่าที่จะซื้อเป็น กองทุนเปิดครับ

7. ต้องพิจารณาสไตล์การลงทุนของผู้จัดการกองทุนด้วย (Consider investment styles)

ท่านผู้อ่านจำนวนมากเมื่ออ่าน/ศึกษาข้อมูลต่างๆ เพื่อเลือกซื้อกองทุนรวม จะพบว่าหน้าตาของกองทุนเหล่านี้ก็ดูเหมือนๆ กัน คือต่างบริหารภายใต้กฎระเบียบและข้อจำกัดที่คล้ายคลึงกัน มีพอร์ตการลงทุนเหมือนๆ กัน แต่ท่าน ทราบหรือไม่ว่าโฉมหน้าภายนอกเหล่านี้อาจหลอกสายตาท่านได้ เพราะมีจุดหนึ่งที่ท่านอาจมองไม่เห็น คือ สไตล์การลงทุนของผู้จัดการกองทุน บางคนมีวิธีการลงทุนที่เน้นเรื่องตัวเลขหรือการทำกำไรมาก (aggressive) บางคน ก็เก่งในเรื่อง การประเมินมูล ค่าการลงทุน (value investing) และบางคน ก็เก่งในเรื่องการ ซื้อๆ ขายๆ หุ้น (trading) หรือ ตราสารหนี้ วิธีหนึ่ง ที่จะช่วยวิเคราะห สไตล์การลงทุนของ ผู้จัดการกองทุนของ ท่านคือดูที่เครื่องมือวัดความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ครับ

- BETA เป็นเครื่องวัดตัวหนึ่งที่จะบอกว่ามูลค่ากองทุนได้เคลื่อนไหวไปใน ทิศทางเดียวกับการเปลี่ยนแปลงในมูลค่าของดัชนีมาตรฐานตลาด เช่น ดัชนี ตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) หรือไม่ โดยที่ดัชนีมาตรฐานตัวนี้จะมีค่าเท่ากับ 1.0 หากกองทุนหุ้นที่ท่านผู้อ่านถืออยู่มีค่าเบต้าเท่ากับ 1.20 นั่นหมายความว่า กองทุนกองนี้มีความผันผวนของมูลค่าหน่วยลงทุนมากกว่าค่าของดัชนีมาตรฐาน อยู่ 20% อธิบายอีกอย่างก็คือ ไม่ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์จะมีค่าเป็นบวกหรือลบ มูลค่ากองทุนของท่านจะแกว่งตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลง 20% เมื่อเทียบกับดัชนี ตลาดฯ

- ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน หรือ Standard Deviation ตัวเลขนี้จะบอกว่า กองทุนที่ท่านถือหน่วยลงทุนอยู่มีการแกว่งตัวของอัตราผลตอบแทนออกจากอัตรา เฉลี่ยที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ ตัวอย่างเช่น หากตั้งค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานไว้ที่ระดับ 10 ก็หมายความว่าอัตราผลตอบแทนต่อเดือนของกองทุนมักจะลดลง ได้ไม่เกิน 10% ของอัตราเฉลี่ย หากค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานอยู่ในระดับสูงมาก แสดง ว่ากองทุนนั้นก็จะมีความผันผวนในเรื่องอัตราผลตอบแทนสูงมากเช่นกัน

- ไตรมาสที่เลวร้ายสุดๆ (Worst quarter) เป็นเครื่องวัดความเสี่ยงที่มุ่ง ไปในระยะยาวมากที่สุด มันจะแสดงให้เห็นอัตราผลตอบแทนรายไตรมาสที่ เลวร้ายที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งก็ช่วยให้ท่านผู้อ่าน/นักลงทุน ทำใจได้ว่าจะเผชิญกับสถานการณ์อะไรในอนาคต

เครื่องมือวัดความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้ท่านผู้อ่านที่เป็นนักลงทุนมี มุมมองที่ชัดเจนต่อสไตล์การลงทุนที่แตกต่างกันของผู้จัดการกองทุนแต่ละคน แม้ว่าข้อมูลตัวเลขต่างๆ ที่คุณต้องการรู้อาจจะมีให้ไม่ครบถ้วนเพียงแต่บริษัทจัดการทุกแห่งก็จะพยายามจัดหาข้อมูลให้ตามที่ท่านนักลงทุน ร้องขอไปในอนาคตอันใกล้นี้ สมาคมบริษัทจัดการ หรือ AIMC จะจัดทำตัวเลขอัตราผลตอบแทนที่มีการปรับปัจจัยความเสี่ยงแล้ว หรือที่เรียกว่า Risk-Adjusted Return และประกาศเผยแพร่ต่อสาธารณะให้ทราบด้วย

8. ต้องระวังในเรื่องขนาดของสินทรัพย์ (Beware of asset size)

การลงทุนในกองทุนรวม ขนาดของสินทรัพย์เป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้อง พิจารณา เพราะมันมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของกองทุน แต่การที่จะบอกว่า จำนวนเท่าใดถือเป็นกองทุนขนาดใหญ่เกินไปหรือเล็กเกินไปนั้น เป็นเรื่องที่ซับซ้อนพอสมควร กองทุนที่มีขนาดสินทรัพย์น้อยกว่า 100 ล้านบาทถือว่า มีขนาดเล็กเกินไป เพราะเมื่อดูตัวเลขค่าใช้จ่ายต่างๆ ของกองทุนแล้ว เราจะพบว่ามันไม่เกิดการประหยัดในเรื่องของขนาดกองทุน พูดง่ายๆ ก็คือค่าใช้จ่ายจะมีจำนวนสูงเมื่อเทียบออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์

แต่ในอีกสุดขั้วหนึ่งนั้น หากกองทุนมีขนาดของสินทรัพย์เกินกว่า 15,000 ล้านบาท ก็ถือว่าใหญ่เกินไปเมื่อเทียบกับขนาดของตลาดการเงินไทย ประเด็นนี้ เป็นเรื่องจริงนะครับ เพราะภายใต้เงื่อนไขแวดล้อมต่างๆ ตอนนี้บริษัทที่ออก ตราสารหนี้ชั้นดีหาได้ยากมากครับ นั่นหมายความว่าตราสารดีๆ ที่ผู้จัดการกองทุน จะซื้อหามาลงทุนก็มีน้อยด้วยครับ

9. ต้องคอยตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายที่ถูกซุกซ่อนไว้ (Look for hidden expense)

ค่าใช้จ่ายของกองทุนมีผลต่ออัตราผลตอบแทนของนักลงทุนโดยตรง ในส่วน ของกองทุนหุ้นที่ค่อนข้างแอคทีฟจะคิดค่าธรรมเนียมการจัดการปีละ 1 - 1.5% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุน ขณะที่กองทุนหุ้นที่เคลื่อนไหวตามการ เปลี่ยนแปลงของดัชนีจะคิดค่าธรรมเนียมการจัดการไม่เกิน 0.75% แต่ในส่วน ของกองทุนตราสารหนี้นั้นจะคิดค่าธรรมเนียมต่ำกว่ากองทุนหุ้นครับ ปีละ 0.5% - 0.75% เท่านั้น

นอกจากดูค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นค่าธรรมเนียมการจัดการรายปีแล้ว ท่านดูอัตราส่วนค่าใช้จ่ายรวม หรือที่เรียกว่า Total Expense Ratio (TER) ซึ่งเป็นตัวเลขรวมของค่าใช้จ่ายทุกรายการที่เกิดขึ้นของกองทุนครับ อย่างไรก็ดี ผมอยาก จะชี้ให้เห็นค่าใช้จ่ายที่ถูกซุกซ่อนไว้อีกรายการหนึ่ง ซึ่งเกิดมาจากการซื้อหลักทรัพย์เข้ามาไว้ในพอร์ตลงทุน และการขายหลักทรัพย์นั้นออกไป ท่านสามารถ ตรวจสอบตัวเลขนี้ได้จากอัตราส่วนการซื้อเข้ามาและขายออกไปในพอร์ตโฟลิโอ ของกองทุนครับ (Portfolio turn over ratio)

อัตราส่วนตัวนี้จะเป็นเครื่องบ่งชี้ที่ดีว่าหุ้นตัวหนึ่งๆ มีการซื้อขายเข้าออก กี่รอบ อัตราส่วนการเข้าออกหลักทรัพย์ในพอร์ตโฟลิโอ หากน้อยกว่า 100% ถือเป็นระดับปกติครับ

10. ใครเป็นคนบริหารเงินของฉัน? (Who's managing my money?)

นี่เป็นคำถามที่สมควรจะถูกถามอย่างยิ่ง เพราะว่าอะไรน่ะหรือครับ ก็เรากำลัง จะมอบความไว้วางใจให้กับคนคนหนึ่ง เข้ามาบริหารเงินที่เราหามาได้ด้วยความ ยากลำบาก มันก็จะต้องทราบพื้นเพของคนผู้นี้กันสักหน่อย ไม่ว่าจะเป็นบุรุษหรือ สตรีก็ตาม อย่างไรก็ตาม ก็มีบริษัทจัดการจำนวนมากนะครับที่ใช้ระบบตั้งเป็น คณะกรรมการขึ้นมาบริหารจัดการเงินของท่านผู้อ่าน เรียกว่าใช้ระบบให้คนหลาย คนมาช่วยกันบริหาร (Investment committee) แทนที่จะเป็นวันแมน/วีแมน โชว์ครับ

กระนั้นก็เถอะครับ ผู้จัดการกองทุนทุกคนต้องได้ใบอนุญาตบริหารจัดการ กองทุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. และต้องมีการระบุชัดเจนว่าใครเป็นผู้จัดการกองทุนกองไหน แต่เราก็ควร ที่จะถามคำถามนั้นกับพวกเขาอยู่ดีแหละครับ คุณเป็นใคร มีประสบการณ์ บริหารกองทุนมานานเพียงใด มีคุณสมบัติที่เหมาะสมอย่างไรบ้างในการจัดการ กองทุน ผู้จัดการกองทุนที่มีใบอนุญาต CFA หรือเป็นนักวิเคราะห์ทางการเงินระดับสูงจะมีความชำนาญมากกว่าผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตนี้

11. อย่าซื้อกองทุนหลายกองมากเกินไป (Don't own too many funds) มีรายงานการศึกษาที่จัดทำโดย Morningstar Mutual Funds ในสหรัฐ อเมริกา ได้ข้อสรุปว่าการถือหน่วยลงทุนของกองทุนมากกว่า 4 กองขึ้นไปไม่ได้ ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนแต่อย่างใด (ดูตารางประกอบ) ในกรณีของ กองทุนรวมในบ้านเรานั้น ยังไม่มีการทำรายงานศึกษาในเรื่องนี้ แต่แนวโน้ม ก็ไม่น่าจะแตกต่างไปจากในสหรัฐฯ เท่าใดนัก

มันก็ไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่จะต้องไปซื้อกองทุนถึง 7-8 กองเพื่อที่จะให้เกิด การกระจายการลงทุน ทางเลือกที่ดีน่าจะเป็นการเลือกกองทุนดีๆ สัก 2-3 กอง หรือซื้อกองทุน Index Fund หรือกองทุนผสม ซึ่งจะช่วยกระจายความเสี่ยง ได้มากกว่า



12. ลงทุนเพื่อระยะยาว (Invest for the long term)

นี่เป็นกฎข้อสุดท้ายในการเลือกกองทุนแล้วครับ หลังจากที่คุณมีความชัดเจน กับเป้าหมายการลงทุนระยะยาวของคุณแล้ว รวมทั้งรู้ด้วยว่าคุณจะรับความเสี่ยง ได้มากน้อยแค่ไหน และคุณก็เลือกผสมกันระหว่างกองทุนที่แอคทีฟกับ ไม่แอคทีฟมากแต่เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (Index Fund) คราวนี้คุณก็นั่งพักได้แล้วล่ะครับ ปล่อยให้ผู้จัดการกองทุนทำงานในส่วนที่ ยากๆ ต่อไปเพื่อหาผลตอบแทนให้คุณคำแนะนำสำคัญที่สุดข้อหนึ่งที่ผมจะให้กับท่านผู้อ่านได้คือควรจะลงทุน เพื่อหวังดอกผลในระยะยาว ประโยคที่บอกว่ากรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว อาจจะเอามาประยุกต์ใช้กับการลงทุนของท่านได้ และท้ายที่สุดนี้ ผมอยากจะบอกด้วยว่าการลงทุนไม่ใช่เรื่องสำหรับคนรวย แต่คุณจะรวยได้ต้องเป็นนักลงทุน.
Ton
Ton
Admin

จำนวนข้อความ : 127
Join date : 03/05/2009
: 47

ขึ้นไปข้างบน Go down

ขึ้นไปข้างบน


 
Permissions in this forum:
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ